น้ำวุ้นตาเสื่อม! ความเสื่อมที่ดูแลได้ (Vitreous degeneration)
January 03 / 2025

 

น้ำวุ้นตาเสื่อม! ความเสื่อมที่ดูแลได้ (Vitreous degeneration)

 

 

 

     น้ำวุ้นตาเสื่อม (Vitreous degeneration) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามวัย ซึ่งพบบ่อยในช่วงวัยกลางคน เมื่อใดก็ตามที่จ้องมองที่ท้องฟ้ายามแดดจ้า เราก็อาจมองเห็นจุดพร้อยพร้อมหยากไย่ใส ๆ ลอยไปมา เมื่อเกิดขึ้นย่อมส่งผลให้การมองเห็นผิดเพี้ยน  หากไม่ดูแลและรักษาอย่างเหมาะสม บทความนี้จะพาผู้อ่านรู้จักสาเหตุและวิธีการดูแลที่ช่วยชะลอหรือป้องกันการเสื่อมสภาพของน้ำวุ้นตา เพื่อรักษาคุณภาพการมองเห็นให้ยาวนานยิ่งขึ้น

 

รู้จักสิ่งที่เรียกว่า 'วุ้นตา'

    วุ้นตา (vitreous) เป็นส่วนประกอบภายในดวงตาซึ่งมีลักษณะเป็นวุ้นเหลวใสอยู่หลังเลนส์ตาและทำหน้าที่คอยคงรูปร่างของลูกตา วุ้นตายังมีน้ำและโปรตีนเส้นใย เช่น คอลลาเจน กรดไฮยาลูโรนิก และสารเกลือแร่ต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบ อย่างไรก็ตาม หากเกิด
 

ภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อม

     ดวงตาในช่วงเยาว์วัย วุ้นตาจะมีสภาพใส ไม่มีตะกอน แนบติดกับด้านหลังเลนส์และด้านหน้าของจอตา เมื่อเข้าสู่วันกลางคนหรือมีปัจจัยเสริมด้านอื่น ส่งผลให้วุ้นตาเสื่อมตัว โปรตีนเส้นใยกลายสภาพเป็นท่อนเล็กๆ หรือจับตัวเป็นก้อน ทำให้วุ้นตาสูญเสียคุณสมบัติความใส จนมีอาการเห็นเป็นเงาดำ อาจเป็นจุดเล็กๆ เส้นๆ คล้ายลายน้ำหรือหยากไย่ หรือเป็นวงๆ ลอยไปมาตามการกลอกตา มักเห็นได้ชัดขึ้นเมื่ออยู่ในภาวะที่มีแสงเหมาะสม เช่น มองท้องฟ้ายามท้องฟ้าสว่าง มองผนังสีขาว หรืออ่านหนังสือในที่มีแสงสว่าง เป็นต้น

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้น้ำวุ้นตาเสื่อม

  • อายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป มีภาวะความเสื่อมตามวัย ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด
  • สายตาสั้น เพิ่มความเสี่ยงของน้ำวุ้นตาเสื่อมเร็วกว่าคนปกติ 2 เท่า
  • เล่นกิจกรรมหรือกีฬาปะทะเป็นประจำ เช่น ชกมวย อเมริกันฟุตบอล รักบี้ เป็นต้น
  • มีประวัติได้รับอุบัติเหตุที่ตา 
  • มีประวัติได้รับการวินิจฉัยโรคทางตา เช่น เบาหวานขึ้นจอตา อักเสบในวุ้นตาและจอตา
  • เคยเข้ารับการผ่าตัดดวงตา โดยเฉพาะการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดต้อกระจก

 

อาการของภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อม

  • จุดดำลอยไปมา หรือ Floater จุดดำหรือเส้นคล้ายหยากไย่ลอยไปมา อาจเห็นได้ชัดขึ้นเวลากลอกตา หรือ มองที่หนังสีขาวหรือท้องฟ้า
  • Flashing หรือการเห็นแสงวาบในตา เกิดจากการลอกสลายของวุ้นตาและดึงรั้งผิวจอตา ทำให้เกิดการกระตุ้นจอตาเห็นเป็นแสงวาบคล้ายแฟลชจากกล้องถ่ายรูป หรือแสงฟ้าแลบในดวงตาแม้ในขณะหลับตา
  • เลือดออกในวุ้นตา (vitreous hemorrhage) เนื่องจากบางบริเวณที่วุ้นตาเริ่มสลายและหดตัวมีการเกาะติดตามแนวเส้นเลือด กรณีที่วุ้นตาติดแน่นกับเส้นเลือดมากจนไม่สามารถแยกออกได้ เมื่อเกิดการหดของวุ้นตาจึงทำให้หนังเส้นเลือดฉีกขาด การมองเห็นจะแย่ลงทันที คล้ายมีหมอกหนาบัง หรือเห็นภาพเป็นสีแดงสดของเลือดได้
  • จอตาฉีกขาด (retinal break) เกิดจากบางบริเวณที่วุ้นตาเกาะกับจอตาแน่นกว่าปกติ เมื่อวุ้นตาเกิดการสลายและหดตัวจึงดึงจอตาฉีกขาดตามมา
  • จอตาหลุดลอก (retinal detachment) เมื่อเกิดจอตาฉีกขาด วุ้นตาดึงจอตาลอกมากขึ้นเรื่อยๆ อาจนำไปสู่ภาวะจอตาลอก ผู้ป่วยจะมองเห็นคล้ายม่านดำบังลานตาตลอดเวลา นับเป็นอาการที่ควรมาพบจักษุแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที

 

การตรวจวินิจฉัยอาการน้ำวุ้นตาเสื่อม

  • เมื่อมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรมารับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์ และจำเป็นต้องได้รับการขยายรูม่านตาโดยการหยอดยาเพื่อตรวจดูจอตาและน้ำวุ้นตาอย่างละเอียด ซึ่งหลังหยอดขยายม่ายตาแล้วตาจะพร่ามัวสู้แสงไม่ได้ การกะระยะไม่แม่นยำ และใช้สายตาในระยะใกล้ไม่ได้เป็นเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง เนื่องจากฤทธิ์ยาขยายม่านตา จึงไม่ควรขับรถเอง แนะนำให้พาคนใกล้ชิดมาด้วยและเตรียมแว่นกันแดดมาสวมใส่ลดอาการตาสู้แสงไม่ได้

 

การดูแลภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อม

  • ส่วนใหญ่แล้ว ภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อมไม่จำเป็นต้องรับการรักษา อาการอาจก่อให้เกิดความรำคาญ แต่ไม่ส่งผลอั นตรายอื่นใด โดยทั่วไปจะสามารถปรับตัวได้ เมื่อการสลายแยกชั้นวุ้นตาสมบูรณ์ ตะกอนในวุ้นตาจะค่อยๆ ลดลง จุดดำหรือเส้นดำจะจางลง อาจะใช้เวลาหลายเดือนถึงหลายปีได้ ขึ้นอยู่กับบุคคล
  • ควรเฝ้าระวังอาการผิดปกติทางตา เช่น มองเห็นภาพเป็นสีแดงสด เห็นแสงแฟลชบ่อยขึ้น มองเห็นเป็นเงาดำบังลานตา เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการที่บ่งถึงภาวะวุ้นตาเสื่อมที่เกิดผลกระทบต่อจอตาและเส้นเลือด จำเป็นต้องได้รับการรักษา
  • กรณีพบการฉีกขาดของจอตา หรือมีจอตาลอก จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยเลเซอร์หรือจี้เย็น หรือผ่าตัดน้ำวุ้นตาและจอตา และตรวจติดตามนัดหลังการรักษาตามจักษุแพทย์แนะนำ

  


เราควรตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะช่วยให้เราสามารถตรวจพบและรักษาโรคตาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อป้องกันการสูญเสีย การมองเห็น เนื่องจากความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตาจะเพิ่มขึ้นตามอายุ หรือหากมีอาการที่ผิดปกติควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ


 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
 แผนกจักษุ ชั้น 1 โรงพยาบาลรามคำแหง 2
Email:
information@ram2-hosp.com
Line Official: @ram2
โทร: 02-032-3888

 

 


บทความโดย

 

DR.MONTANA SUPAWONGWATTANA
พญ.มัณฑนา ศุภวงศ์วรรธนะ

แพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยา
โรงพยาบาลรามคำแหง 2

 

นัดพบแพทย์ นัดหมายแพทย์ Book Appiontment
 

 


แพ็กเกจที่แนะนำ